"บัญชีซื้อขายหุ้น" มีกี่ประเภท

Last updated: 30 มี.ค. 2563  |  10444 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"บัญชีซื้อขายหุ้น" มีกี่ประเภท

ก่อนเริ่มซื้อขายหุ้น สิ่งแรกที่ต้องมีก็คือ "บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์" ซึ่งต้องเปิดกับบริษัทหลักทรัพย์หรือที่เราเรียกกันว่าโบรกเกอร์ แต่ก่อนจะเดินเข้าไปเปิดบัญชี(เปิดออนไลน์ก็ได้นะ) เราต้องรู้ก่อนว่าจะเปิดบัญชีประเภทไหน โดยบัญชีทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

 

1 บัญชีเงินสด (Cash Account) : ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง

  • โบรกเกอร์จะกำหนดวงเงินที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละราย
  • วางเงินประกันเพียง 20% ของวงเงินอนุมัติ
  • ซื้อหุ้นก่อน ชำระค่าหุ้นด้วยเงินสดเต็มตามจำนวนที่ซื้อภายใน 2 วันทำการ(T+2)



เช่น บริษัทหลักทรัพย์ให้วงเงิน นาย A จำนวน 100,000 บาท นั่นหมายความว่า นาย A สามารถซื้อหุ้นในมูลค่า 100,000 บาทได้ทันที เพียงแค่วางเงินประกัน 20,000 บาทเท่านั้น(20% ของวงเงินอนุมัติ) โดยนาย A จะมีเวลา 2 วันทำการในการชำระค่าหุ้นทั้งหมดที่ซื้อไว้ เช่น ซื้อวันจันทร์ ต้องชำระค่าหุ้น 100,000 บาทในวันพุธ หรือซื้อวันศุกร์ต้องชำระค่าหุ้น 100,000 บาทในวันอังคาร(ไม่นับวันหยุด)

* ถ้าหลักประกันเป็นเงินสด เราจะได้ดอกเบี้ยฝาก

** เมื่อมีหุ้นในพอร์ตแล้ว สามารถนำหุ้นในพอร์ตมาใช้เป็นหลักประกันแทนเงินสดได้

ข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปทิ้งไว้ในพอร์ตหุ้น จะโอนเข้าบัญชีหุ้นก็ต่อเมื่อซื้อหุ้นไปแล้วเท่านั้น แต่หากเราไม่โอนภายในเวลาที่กำหนดก็จะมีค่าปรับเกิดขึ้น บัญชีนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีวินัยพอสมควร (คล้ายๆบัตรเครดิต ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หากครบกำหนดแล้วไม่จ่าย ก็จะมีดอกเบี้ย/ค่าปรับเกิดขึ้น)

  >> เหมาะสำหรับนักลงทุน ที่ต้องการสภาพคล่องในการบริหารเงิน วางหลักประกันก่อนเทรดเพียง 20% ของมูลค่าหุ้นที่ต้องการซื้อและชำระเงินค่าหุ้นอีก 2 วันทำการถัดไป

  

2. บัญชีวางเงินล่วงหน้า (Cash Balance) : ต้องมีเงินในบัญชีก่อนจึงจะซื้อได้

  • ซื้อหุ้นได้เท่ากับจำนวนเงินที่ฝากไว้กับโบรกเกอร์

 

บัญชีนี้เป็นบัญชีที่เข้าใจง่ายที่สุด นั่นคือ เราจะซื้อหุ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเงินในบัญชีเท่านั้น อย่างเช่น นาย A ต้องการ ซื้อหุ้นมูลค่ารวม 100,000 บาท นั่นหมายความว่า นาย A ต้องโอนเงินเข้าบัญชีหุ้นก่อนจำนวน 100,000 บาทจึงจะสามารถซื้อได้

* เงินที่อยู่ในบัญชีถ้าไม่ได้นำไปซื้อหุ้นก็จะได้รับดอกเบี้ย

ข้อดีคือ ทำให้เราไม่เทรดจนเกินตัว มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อหุ้นได้เท่านั้น บัญชีแคชบาลานซ์จึงเป็นบัญชีที่เหมาะกับมือใหม่มากที่สุด

  >> เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุน เปิดบัญชีง่าย อนุมัติไว สามารถตรวจสอบกำไร/ขาดทุนได้ง่าย และประหยัดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย

 

3. บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance Account) หรือ บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) : ยืมเงินโบรกเกอร์มาซื้อหุ้น

  • กู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์มาซื้อหุ้นส่วนหนึ่ง และต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้นั้น
  • ต้องมีเงินสดหรือหุ้นวางเป็นหลักประกัน
  • ถ้าหุ้นที่ซื้อไว้ราคาลดลงมากๆ โบรคเกอร์จะให้เราวางเงินสดเพิ่ม และหากนักลงทุนไม่สามารถเพิ่มหลักประกันได้ ก็อาจถูกโบรกเกอร์บังคับขาย(forced sell) เพื่อรักษาอัตรามาจิ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
  • ซื้อขายได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่โบรกเกอร์กำหนดเท่านั้น


ข้อดีคือ มีอำนาจซื้อมากกว่าเงินสดที่เรามีอยู่ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราทวีคูณ

ตัวอย่างเมื่อเปรียบเทียบบัญชี Cash Balance กับ Credit Balance Account 

นาย A มีเงินสด 100,000 บาท ถ้านำไปลงทุนในบัญชี Cash Balance เมื่อราคาหุ้นขึ้น 20% ถ้าขายจะได้กำไร 20,000 บาท แต่ถ้าใช้ Credit Balance จะสามารถซื้อหุ้นได้ 200,000 บาท (กรณีที่อัตรามาร์จิ้น 50%) เมื่อราคาหุ้นขึ้น 20% จะทำให้ได้กำไรสูงถึง 40,000 บาท

แต่ในทางตรงกันข้าม หากราคาหุ้นที่ซื้อไว้ลดลง 20% เงิน 100,000 บาทที่ซื้อหุ้นในบัญชี Cash Balance จะขาดทุน 20,000 บาท แต่บัญชี Credit Balance จะขาดทุนสูงถึง 40,000 บาท ทำให้นาย A เหลือเงินเพียง 60,000 บาท ซึ่งคิดเป็นผลขาดทุนสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับเงินต้น

  >> เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนสูง มีความสามารถในการลงทุน และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี

 

ดังนั้นก่อนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น อย่าลืมสำรวจตัวเราเองให้แน่ใจก่อน ว่าเหมาะกับการลงทุนในบัญชีแบบไหน เมื่อเลือกได้แล้ว ก็สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบง่ายๆกันได้เลยค่ะ

>>> เปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ <<<

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้