MotoGP : สิ่งที่ 6 ผู้ผลิตต้องเร่งแก้ไขก่อนเปิดฤดูกาล 2020

Last updated: 14 ม.ค. 2563  |  1358 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MotoGP : สิ่งที่ 6 ผู้ผลิตต้องเร่งแก้ไขก่อนเปิดฤดูกาล 2020

ช่วงปิดฤดูกาลเป็นช่วงเวลาของการทดสอบ ค้นหาสิ่งที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขเพื่อพัฒนาตัวรถแข่งให้สมบูรณ์แบบที่สุดก่อนจะเริ่มการแข่งขันในแต่ละฤดูกาล ในปี 2019 ที่ผ่านมาแฟนความเร็วคงได้เห็นจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละทีมกันแล้ว มาดูกันว่าสิ่งที่ 6 ผู้ผลิตในศึกโมโตจีพีต้องเร่งแก้ไขมีอะไรบ้างก่อนที่การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกฤดูกาล 2020 จะเริ่มขึ้น

 

 

HONDA : นอกจาก มาร์ก มาร์เกซ ต้องเตรียมรถที่ลงตัวสำหรับนักแข่งคนอื่นด้วย

รถฮอนด้า RC213V กวาดรางวัลมากมายในปี 2019 ทั้งแชมป์โลกประเภทนักแข่ง ประเภททีม และประเภทผู้ผลิต แต่เมื่อมองไปที่ตารางคะแนนจะเห็นว่ามีแค่ มาร์ก มาร์เกซ คนเดียวเท่านั้นที่มีฤดูกาลที่แข็งแกร่ง คนอื่นๆยังไม่มีบทบาทมากนัก นักแข่งของฮอนด้าที่ทำผลงานได้ดีต่อจากมาร์เกซคือ คาล ครัทช์โลว จบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 9 มี 133 แต้ม น้อยกว่า 1 ใน 3 คะแนนของแชมป์โลกที่กวาดไปถึง 420 แต้ม เมื่อมองไปที่คะแนนของนักแข่งคนอื่นยิ่งดูห่างชั้นจากมาร์เกซทั้ง ทาคาอากิ นาคากามิ (74 แต้ม) และ ฆอร์เก ลอเรนโซ (28 แต้ม) แน่นอนว่าความสามารถส่วนตัวของมาร์ก มาร์เกซ ก็มีส่วนในการทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมแต่ถ้าฮอนด้าโฟกัสไปที่ตัวรถที่เหมาะกับนักแข่งแต่ละคนมากกว่านี้ในปี 2020 เราคงจะได้เห็นนักบิดฮอนด้ายึดแถวหน้ามากกว่าหนึ่งคันแน่นอน

 

 

 

 

DUCATI : ต้องทำงานในโค้งให้ดีขึ้น

ถึงเครื่องยนต์ของดูคาติจะแรงที่สุดและมีชิ้นส่วนใหม่ๆมาเสริมเติมแต่งเพิ่มความแกร่งตลอดฤดูกาลแต่ อันเดรีย โดวิซิโอโซ รู้สึกหงุดหงิดกับปัญหาในช่วงโค้งของดูคาติ โดวิบอกว่ารถของเขาช้ามากในช่วงกลางของโค้งเขาเลยต้องเร่งความเร็วเพื่อให้ออกจากโค้งได้ดีขึ้น เมื่อเร่งมากยางก็หมดเร็ว เจ้าตัวยังย้ำอีกว่าได้พูดถึงปัญหานี้มา 6 ปีแล้ว หากดูคาติหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการรักษาความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์และการรักษายางในระยะการแข่งขันได้รับรองว่าแฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกจะได้เห็นดูคาติที่ทรงพลังทั้งช่วงทางตรงและช่วงโค้งแน่นอน

 

 

 

 

YAMAHA : ต้องเพิ่มความเร็วของตัวรถ

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของยามาฮ่าคือท็อปสปีดยังน้อยกว่ารถแข่งของผู้ผลิตชั้นนำรายอื่น นักบิดยามาฮ่าต้องเผชิญกับงานที่ยากลำบากตลอดทั้งฤดูกาลเนื่องจากรถของยามาฮ่ามีกำลังต่ำมักจะโดนคู่แข่งเร่งแซงในช่วงทางตรง ถึงแม้ว่า ฟาบิโอ กวาตาราโร จะเคยต่อสู้กับ มาร์ก มาร์เกซ ถึงรอบสุดท้ายที่มิซาโนและบุรีรัมย์ และ มาเวริค บีญาเลส ก็เคยเจอสถานการณ์คล้ายๆกันที่ฟิลลิป ไอส์แลนด์ แต่สุดท้ายก็เป็นฮอนด้าที่โชว์ความเหนือกว่าทั้ง 3 สนาม จะเห็นว่ารถแข่งของยามาฮ่าทำเวลาได้ดีในเซสชั่นที่นับความเร็วต่อรอบอย่างรอบ FP และรอบควอลิฟายนักแข่งจากยามาฮ่าจึงได้ออกตัวจากแถวหน้าหลายสนาม แต่ในการแข่งขันจริงพวกเขากลับไม่ประสบความสำเร็จมากนักเมื่อดูที่ 9 โพลโพซิชั่นแต่ชนะแค่ 2 สนามในปี 2019 หาก YZR-M1 เพิ่มความเร็วสูงสุดได้เทียบเท่าผู้ผลิตรายอื่นในปี 2020 เราคงจะได้เห็นนักแข่งจากค่ายนี้ลุ้นแชมป์เต็มตัวแน่นอน

 

 

 

 

SUZUKI : ต้องหาศักยภาพสูงสุดของตัวรถให้เจอและรักษาความสม่ำเสมอ

ทุกวันนี้ GSX-RR อัพตัวเองขึ้นมาเป็นรถแข่งชั้นนำในศึกโมโตจีพีแต่ซูซูกิก็มีปัญหาคล้ายๆกับยามาฮ่าคือต้องการความแรงมากกว่านี้ ในปีที่ผ่านมาซูซูกิคว้าชัย 2 สนามจาก อเล็กซ์ รินส์ ที่อเมริกาและซิลเวอร์สโตนแต่ปัญหาใหญ่ของนักแข่งหมายเลข 42 คือ เขาทำเวลาได้ไม่ดีเท่าที่ควรในรอบควอลิฟายทำให้เสียโอกาสในการลุ้นโพเดียมในรอบแข่งขันจริง ในฤดูกาล 2019 รินส์ได้ออกตัวจาก 2 แถวแรกแค่ 4 สนามเท่านั้นและขึ้นโพเดียม 3 ครั้ง หากซูซูกิอยากมีข้อมูลในการปรับปรุงรถเพื่อดึงศักยภาพสูงสุดมาใช้ประโยชน์ในรอบควอลิฟายและเพื่อความสม่ำเสมอในแทร็ก การมีทีม Satellite ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ผลิตรายนี้เพื่อการลุ้นแชมป์ในอนาคต 

 

 

 

 

KTM : ต้องมีอาวุธลับในการต่อสู้

ในด้านขุมกำลังเครื่องยนต์ต้องยอมรับว่าเคทีเอ็มยังเทียบชั้นหัวแถวไม่ได้ ทั้งอาการบาดเจ็บของนักแข่งและการขาดนักบิดระดับท็อปทำให้การพัฒนารถแข่งไม่คืบหน้าเท่าที่ควร การมาของ ดานี เปโดรซา ในปีนี้เป็นความหวังในการพัฒนา RC16 ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นโดยเขาได้ทดลองชิ้นส่วนบางอย่างในเฆเรซเทสต์ด้วย โพล เอสปาร์กาโร ได้เผยถึงความประทับใจในรถใหม่และยอมรับว่าเขาจำเป็นต้องศึกษาสิ่งที่กำลังทำอยู่เพื่อความก้าวหน้า เคทีเอ็มต้องปรับปรุงและพัฒนาอีกหลายด้านหากต้องการโอกาสในการต่อสู้เพื่อโพเดียม

 

 

 

 

APRILIA : เร่งสร้างความคุ้นเคยกับตัวรถใหม่

อาพริเลียจะใช้ตัวรถใหม่ในการทดสอบที่เซปัง มีรายงานว่าการพัฒนาครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เครื่องยนต์ตามการออกแบบของดูคาติและฮอนด้า เพื่อส่งมอบความเร็วสูงสุดและการเบรกของเครื่องยนต์พร้อมกับการผสมผสานที่ดีขึ้นของชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เนื่องจากเป็นรถใหม่ที่ติดตั้งโปรแกรมใหม่ย่อมมีอะไรมากมายให้เรียนรู้คงต้องใช้เวลาสักระยะกว่านักบิดจะคุ้นเคยกับรถแข่ง ตอนนี้ทุกอย่างยังไม่แน่นอนสำหรับอาพริเลียหากเทคโนโลยีใหม่ในเครื่องยนต์ใหม่ที่พวกเขาคาดหวังกันมากทำงานได้ดีเราคงจะได้เห็น RS-GP อัพขึ้นไปป่วนแถวหน้าในการแข่งขันโมโตจีพี 2020

 

 

ติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook Page Solivelyth

 

 

cassieJ

 

 

 


เครดิต : www.crash.net 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้